ประเภทของการอ่าน
ประเภทของการอ่าน
การอ่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ การอ่านในใจและการอ่านออกเสียง
๒.การอ่านในใจ
การอ่านในใจ คือการแปลความหมายของตัวอักษรออกมาเป็นความคิด ความเข้าใจ และนำความคิดความเข้าใจที่ได้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ประเภทของการอ่านดังต่อไปนี้คือ
๑. การอ่านจับใจความ
การอ่านจับใจความ เป็นการอ่านหนังสืออย่างละเอียดเพื่อเก็บแนวคิดหรือสรุปสาระสำคัญของเรื่อง ที่อ่าน หลักสำคัญของการอ่านจับใจความคือการแยกใจความ (ข้อความสำคัญที่สุด) ออกจาก พลความ (ข้อความประกอบ)
วิธีการอ่าน
๑) สังเกตส่วนประกอบของงานเขียน เช่น ชื่อเรื่อง คำนำวัตถุประสงค์ ของผู้เขียนว่าเป็นงานเกี่ยวกับอะไร และเขียนเพื่ออะไร
๒) วิเคราะห์จุดมุ่งหมายงานเขียนว่าเขียนด้วยวัตถุประสงค์ใด
๓) จัดลำดับเนื้อหาใหม่ตามความสำคัญ
๔) ใช้การตั้งคำถามกว้าง ๆ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม เพื่อหาความสัมพันธ์ในการดำเนินเรื่อง
๒. การอ่านตีความ
คือ การอ่านที่ผู้อ่านจะต้องใช้สติปัญญาตีความหมายของคำและข้อความทั้งหมด โดยพิจารณาถึงความหมายโดยนัย หรือความหมายแฝงที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อความหมาย ซึ่งทั้งนี้ผู้อ่านจะสามารถตีความหมายของคำสำนวนได้ถูกต้องหรือไม่นั้นจำเป็นต้องอาศัยเนื้อความแวดล้อมของข้อความนั้นๆบางครั้งต้องอาศัยความรู้หรือประสบการณ์ปัจจุบันเป็นเครื่องช่วยตัดสินการอ่านตีความมีหลักเกณฑ์ในการอ่านดังนี้
การอ่านตีความอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้อ่านต้องพิจารณาความหมายโดยอาศัยบริบท น้ำเสียงของผู้เขียน เจตคติ ภูมิหลังของเหตุการณ์ประกอบด้วย
ข้อปฏิบัติในการอ่านตีความ
- อ่านเรื่องให้ละเอียดโดยพยายามจับประเด็นสำคัญของเรื่องให้ได
- หาเหตุผลอย่างรอบคอบเพื่อพิจารณาว่ามีความหมายถึงสิ่งใด
- ทำความเข้าใจกับถ้อยคำที่ได้จากการตีความ
- เรียบเรียงถ้อยคำให้มีความหมายชัดเจนและมีเหตุมีผลเป็นหลักสำคัญ
๓. การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
การอ่านชนิดนี้เป็นการอ่านที่ค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้การหาเหตุผลมาใช้ในการวิจารณ์
ข้อควรปฏิบัติในการอ่านอย่างใช้วิจารณญาณ
๑. พิจารณาความหมายของข้อความที่อ่าน
๒. พิจารณาความต่อเนื่องของประโยคว่ามีเหตุผลสอดรับกันหรือไม่
๓. พิจารณาความต่อเนื่องของใจความหลักและใจความรอง
๔. แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นและความรู้สึก
๕. พิจารณาว่ามีความรู้เนื้อหา หรือมีความคิดแปลกใหม่น่าสนใจหรือไม่
๔. การอ่านวิเคราะห์
การอ่านชนิดนี้เป็นการอ่านเพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เป็นการแยกแยะทำความเข้าใจองค์ประกอบหรือโครงสร้างของหนังสือแต่ละประเภท
ข้อควรปฏิบัติในการอ่านวิเคราะห์
๑. ศึกษารูปแบบของงานประพันธ์ว่าเป็นรูปแบบใด
๒. แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร
๓. แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
๔. พิจารณากลวิธีในการนำเสนอ
๕.การอ่านเพื่อประเมินคุณค่า
การประเมินค่าเป็นการตัดสินความถูกต้องเที่ยงตรงและคุณค่าของเรื่องที่อ่าน ว่าถูกต้องชัดเจนหรือไม่ เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด มีคุณค่าหรือไม่ อย่างไร โดยพิจารณาเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และการใช้ภาษา
วิธีการอ่านประเมินคุณค่า
๑.พิจารณาความถูกต้องของภาษาจากเรื่องที่อ่าน
๒.พิจารณาความต่อเนื่องของประโยค ว่าเป็นข้อความที่ไปกันได้ ไม่ขัดแย้งกัน
๓.พิจารณาความต่อเนื่องของความหมาย
๔.เมื่ออ่านแล้วต้องแยกข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น และความรู้สึกจากเรื่องที่อ่าน
การอ่านออกเสียง
การอ่านออกเสียง หมายถึงการอ่านข้อความโดยการเปล่งเสียงออกมาเพื่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ข้อความนั้นๆ ด้วยการอ่านออกเสียงแบ่งเป็น ๒ ลักษณะคือ
๑.การอ่านออกเสียงปกติ
เป็นการอ่านออกเสียงตามปกติทั่วไป อ่านได้ทั้งบทร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น อ่านข่าว อ่านประกาศ อ่านตีบท อ่านสารคดี อ่านข้อความประกอบภาพนิ่ง หรืออ่านบทภาพยนตร์
วิธีการอ่านออกเสียงปกติ
๑.ทำความเข้าใจกับเรื่องที่จะอ่านก่อนการอ่านจริง
๒.ออกเสียงชัดเจน ดังพอประมาณ มีลีลาจังหวะในการอ่านอย่างเหมาะสม
๓.แบ่งวรรคตอนได้ถูกต้อง
๔.อ่านออกเสียงถูกต้องตามอักขรวิธี
๒.การอ่านทำนองเสนาะ
การอ่านทำนองเสนาะเป็นการอ่านออกเสียงบทร้อยกรองหรือวรรณคดีไทยให้ไพเราะน่าฟัง มุ่งให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง เกิดอารมณ์ จินตนาการ คล้อยตามบทร้อยกรองนั้นๆ ด้วย
วิธีการอ่านทำนองเสนาะ
๑.ต้องรู้จักลักษณะคำประพันธ์ที่จะอ่านก่อนว่าบังคับฉันทลักษณ์อย่างไร
๒.อ่านให้ถูกทำนอง
๓.ควรมีน้ำเสียงและลีลาในการอ่านที่ดี
๔.ออกเสียงแต่ละคำถูกต้องชัดเจน